วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ดอก

รูปแสดงส่วนประกอบของดอกไม้



           ดอก คือ อวัยวะสืบพันธุ์ของพืช ทำหน้าที่สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ที่เกิดมาจากตาชนิดตาดอกที่อยู่ตรงบริเวณปลายยอด ปลายกิ่ง บริเวณลำต้นตามแต่ชนิดของพืช ดอกประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

         ดอกประกอบด้วยส่วนต่างๆ 4 ส่วน แต่ละส่วนจะเรียงเป็นชั้นเป็นวงตามลำดับจากนอกสุดเข้าสู่ด้านใน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมีย ดังนี้

1. กลีบเลี้ยง เป็นส่วนของดอกที่อยู่ชั้นนอกสุดเรียงกันเป็นวง เรียกว่า วงกลีบเลี้ยง ส่วนมากมีสีเขียว เจริญเปลี่ยนแปลงมาจากใบ ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม แมลงและศัตรูอื่นๆ ที่จะมาทำอันตรายในขณะที่ดอกยังตูมอยู่ นอกจากนี้ยังช่วยในการสังเคราะห์ด้วยแสง จำนวนกลีบเลี้ยงในดอกแต่ละชนิดอาจไม่เท่ากัน ดอกบางชนิดกลีบเลี้ยงจะติดกันหมดตั้งแต่โคนกลีบจนเกือบถึงปลายกลีบ มีลักษณะคล้ายถ้วยหรือหลอด เช่น กลีบเลี้ยงของดอกชบา แตง บานบุรี แค บางชนิดมีกลีบเลี้ยงแยกกันเป็นกลีบๆ เช่น กลีบเลี้ยงของดอกบัวสาย พุทธรักษา กลีบเลี้ยงของพืชบางชนิดอาจมีสีอื่นนอกจากสีเขียว ทำหน้าที่ช่วยช่อแมลงในการผสมเกสรเช่นเดียวกับกลีบดอก

2. กลีบดอก เป็นส่วนของดอกที่อยู่ถัดจากกลีบเลี้ยงเข้ามาข้างใน มีสีสันต่างๆ สวยงาม เช่น สีแดง เหลือง ชมพู ขาว มักมีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง บางชนิดมีกลิ่นหอม บางชนิดตรงโคนกลีบดอกจะมีต่อมน้ำหวานเพื่อช่วยล่อแมลงมาช่วยผสมเกสร 

3. เกสรเพศผู้ เป็นส่วนของดอกที่อยู่ถัดจากกลีบดอกเข้ามาข้างใน ประกอบด้วยก้านชูอับเรณู อับเรณู ซึ่งภายในบรรจุละอองเรณูมีลักษณะเป็นผงสีเหลือง อับเรณูทำหน้าที่สร้างละอองเรณู ภายในละอองเรณูมีเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้

4. เกสรเพศเมีย เป็นส่วนของดอกที่อยู่ชั้นในสุด ประกอบด้วยยอดเกสรเพศเมีย ก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่ ออวุล และเซลล์ไข่

            ชนิดของดอก มีดังนี้
          ดอกของพืชโดยทั่วไปมีส่วนประกอบที่สำคัญครบ 4 ส่วน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมีย แต่ดอกของพืชบางชนิดมีส่วนประกอบไม่ครบ 4 ส่วน จึงจำแนกดอกเป็น 2 ประเภท โดยพิจารณาจากส่วนประกอบเป็นเกณฑ์ ได้แก่
1. ดอกสมบูรณ์ คือ ดอกที่มีส่วนประกอบครบ 4 ส่วน ได้แก่ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมีย เช่น ดอกชบา ดอกกุหลาบ ดอกอัญชัน เป็นต้น



2. ดอกไม่สมบูรณ์ คือ ดอกที่มีส่วนประกอบไม่ครบ 4 ส่วน เช่น ดอกหน้าวัว ดอกตำลึง ดอกฟักทอง ดอกมะละกอ เป็นต้น


            ถ้าพิจารณาเกสรของดอกที่ทำหน้าที่สืบพันธุ์เป็นเกณฑ์ จะจำแนกดอกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ดอกสมบูรณ์เพศ คือ ดอกที่มีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เช่น ดอกชบา ดอกมะม่วง ดอกต้อยติ่ง ดอกอัญชัญ ดอกมะเขือ เป็นต้น

2. ดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือ ดอกที่มีเกสรเพศผู้หรือเกสรเพศเมียอยู่ภายในดอกเพียงเพศเดียว ดอกที่มีเกสรเพศผู้อย่างเดียว เรียกว่า ดอกเพศผู้ และดอกที่มีเกสรเพศเมียอย่างเดียว เรียกว่า ดอกเพศเมีย เช่น ดอกฟักทอง ดอกบวบ ดอกตำลึง ดอกมะละกอ เป็นต้น


            แต่ถ้าพิจารณาจำนวนดอกที่เกิดจากหนึ่งก้านดอกเป็นเกณฑ์ จะจำแนกดอกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ดอกเดี่ยว คือ ดอกที่เกิดขึ้นบนก้านดอก เป็นดอกเดียวโดดๆ เช่น ดอกจำปี ดอกชบา เป็นต้น

2. ดอกช่อ คือ ดอกที่เกิดเป็นกลุ่มบนก้านดอก ประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก แต่ละดอกย่อยมีก้านดอกย่อยอยู่บนก้านดอก เช่น ดอกหางนกยูง ดอกกล้วยไม้ ดอกทานตะวัน ดอกกระถินณรงค์ เป็นต้น


หน้าที่ของดอก มีดังนี้
1. ช่วยล่อแมลงให้มาผสมเกสร
2. ทำหน้าที่ผสมพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น